หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไป และต้องคอยหวาดระแวงว่า ญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบ เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น
๒. เว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต เช่น
ลัก = ขโมยเอาลับหลัง
ฉก = ชิงเอาซึ่งหน้า
กรรโชก = ขู่เอา
ปล้น = รวมหัวกันแย่งเอา
ตู่ = เถียงเอา
ฉ้อ = โกงเอา
หลอก = ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์
ลวง = เบี่ยงบ่ายลวงเขา
ปลอม = ทำของที่ไม่จริง
ตระบัด = ปฏิเสธ
เบียดบัง = ซุกซ่อนเอาบางส่วน
สับเปลี่ยน = แอบเปลี่ยนของ
ลักลอบ = แอบนำเข้าหรือออก
ยักยอก = เบียดบังเอาของในหน้าที่ตน
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่กระทำผิดในทางเพศ ไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีจิตใจสูง เคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ คือต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อรวม ๗ วิธีด้วยกัน คือ
พูดปด = โกหกซึ่งๆ หน้า
ทนสาบาน = อ้างสิ่งต่างๆ ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
ทำเล่ห์กระเท่ห์ = ทำกลอุบายหรือเงื่อนงำอันอาจทำให้คนอื่นหลงเข้าใจผิด
มารยา = เช่น เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก
ทำเลศ = ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
เสริมความ = เรื่องนิดเดียวทำให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่
อำความ = เรื่องใหญ่ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย
การเว้นจากพูดเท็จต่างๆ เหล่านี้ หมายถึง
- ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึงตนจึงโกหก
- ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น รักเขาอยากให้เขาได้ ประโยชน์จึงโกหก หรือเพราะเกลียดเขา อยากให้เขาเสียประโยชน์จึงโกหก
- ไม่ยอมพูดเท็จเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง เช่น อยากได้ทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ จึงโกหก
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด คือไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน ควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ ไม่เป็นบ่างช่างยุ ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่
คำด่า = พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ
คำประชด = พูดกระแทกแดกดัน
คำกระทบ = พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด
คำแดกดัน = พูดกระแทกกระทั้น
คำสบถ = พูดแช่งชักหักกระดูก
คำหยาบโลน = พูดคำที่สังคมรังเกียจ
คำอาฆาต = พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อยๆ สักแต่ ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ แต่พูดถ้อยคำที่มีสาระ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่นในทางทุจริต
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่น มีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
๙. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีใจเบิกบาน แจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสะจริต
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรารู้จักให้อภัยทาน ไม่คิดทำลาย ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้ว เกิดความคิดสร้างสรรค์
๑๐. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม คือไม่คิดแย้งกับหลักธรรม เช่น มีความเห็นที่เป็น สัมมาทิฏฐิพื้นฐาน ๘ ประการ คือ
๑. เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ
๒. เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ควรทำ
๓. เห็นว่าการต้อนรับแขกมีผล ควรทำ
๔. เห็นว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง
๕. เห็นว่าโลกนี้โลกหน้ามีจริง
๖. เห็นว่าบิดามารดามีพระคุณต่อเราจริง
๗. เห็นว่าสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (นรกสวรรค์มีจริง)
๘. เห็นว่าสมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง
หมายเหตุ ข้อ ๕ อาจแยกเป็น โลกนี้มีจริง ๑- โลกหน้ามีจริง ๑
ข้อ ๖ อาจแยกเป็น บิดามีพระคุณจริง ๑ มารดามีพระคุณจริง ๑
ซึ่งถ้าแยกแบบนี้ก็จะรวมได้เป็น ๑๐- ข้อ แต่เนื้อหาเหมือนกัน
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นใจดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูก มีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้อง ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่น ถูกต้องตามไปด้วย
"เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย" องฺ. เอก. ๒๐/๑๘๒/๔๐
คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตน โดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี
"ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุคคลใดหวังความสุข หวังความ
วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554
หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น